อักษรวิ่ง

เทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวัน

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562

การปฏิสนธิ

การปฏิสนธิเป็นอย่างไร เกิดขึ้นตอนไหน ?


การปฏิสนธิ คือ กระบวนการที่เชื้ออสุจิของเพศชายเข้าผสมกับไข่ของเพศหญิง ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งครรภ์ในภายหลัง โดยผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตรอาจสงสัยว่าการปฏิสนธินั้นมีกระบวนการอย่างไร และช่วงเวลาใดที่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ การศึกษาข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยไขข้อข้องใจดังกล่าวได้ และยังมีคำแนะนำบางส่วนที่เกี่ยวกับการกระตุ้นให้เกิดการปฏิสนธิสำหรับว่าที่คุณพ่อคุณแม่ที่อยากมีเจ้าตัวน้อยด้วย
1425 การปฏิสนธิ resized

ขั้นตอนการปฏิสนธิ
การปฏิสนธิมีกระบวนการดังต่อไปนี้
  • การตกไข่ ในแต่ละเดือนจะมีไข่หลายใบในรังไข่ของผู้หญิงที่ค่อย ๆ เจริญเติบโตในถุงน้ำฟอลลิเคิล (Follicles) และจะมีไข่เพียง 1 ใบเท่านั้นที่หลุดจากถุงน้ำหุ้มไข่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ซึ่งปกติแล้วกระบวนการตกไข่นั้นจะเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนประมาณ 2 สัปดาห์
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน หลังจากไข่ตก ถุงน้ำหุ้มไข่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นคอร์ปัส ลูเทียม (Corpus Luteum) ซึ่งจะสร้างฮอร์โมนที่ช่วยให้เยื่อบุมดลูกหนาขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดหลังการปฏิสนธิต่อไป
  • ไข่เคลื่อนเข้าสู่ท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิ หลังกระบวนการตกไข่ ไข่จะเดินทางเข้าสู่ท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิหรือสเปิร์มเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งกระบวนการนี้เกิดขึ้นหลังการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากไม่มีการปฏิสนธิ ไข่จะเคลื่อนไปยังมดลูกและสลายตัวไปในที่สุด โดยระดับฮอร์โมนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติและเกิดการหลุดลอกของผนังมดลูกออกมาเป็นประจำเดือน
  • การปฏิสนธิ จะเกิดขึ้นเมื่อสเปิร์มตัวที่แข็งแรงที่สุดว่ายไปยังท่อนำไข่และเจาะเปลือกไข่ได้ หลังจากการปฏิสนธิ ไข่จะแปรสภาพและทำให้สเปิร์มตัวอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าไปได้อีก ซึ่งเพศของเด็กนั้นขึ้นอยู่กับโครโมโซมของสเปิร์มด้วย หากสเปิร์มมีโครโมโซมวาย (Y) เด็กจะเป็นเพศชาย และหากสเปิร์มมีโครโมโซมเอ็กซ์ (X) เด็กจะเป็นเพศหญิง
  • ระยะฝังตัว การแบ่งตัวของเซลล์จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังการปฏิสนธิ ซึ่งไข่จะอยู่ในท่อนำไข่เป็นเวลาประมาณ 3-4 วัน และจะเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่ไปยังมดลูกเพื่อยึดเกาะฝังตัวที่ผนังมดลูกซึ่งเป็นกระบวนการฝังตัวของไข่ และอาจทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดแบบกระปริดกระปรอยได้ ผนังมดลูกก็จะหนาขึ้นและจะมีมูกบริเวณปากช่องคลอดจนกว่าเด็กจะพร้อมคลอด ซึ่งเซลล์ต่าง ๆ จะค่อย ๆ เจริญเติบโตและแบ่งตัวมากขึ้น โดยเซลล์ประสาทของเด็กจะเริ่มพัฒนาขึ้นก่อนในช่วง 3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
หลังตัวอ่อนฝังตัวแล้ว ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเอชซีจี (HCG) หรือฮอร์โมนตั้งครรภ์ขึ้น ซึ่งจะสามารถตรวจหาฮอร์โมนดังกล่าวได้ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ในช่วงประมาณ 3-4 สัปดาห์หลังจากวันแรกของประจำเดือนรอบที่มาครั้งล่าสุด


ช่วงเวลาที่มีโอกาสเกิดการปฏิสนธิมากที่สุด
การปฏิสนธิจะเกิดขึ้นเมื่อมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่มีการตกไข่เท่านั้น โดยใน 1 เดือนจะมีกระบวนการตกไข่เพียงแค่ครั้งเดียว ซึ่งหมายความว่าใน 1 เดือนมีโอกาสเพียงไม่กี่วันเท่านั้นที่ผู้หญิงจะตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม การมีเพศสัมพันธ์และวันที่ไข่ตกนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นวันเดียวกันถึงจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากสเปิร์มที่แข็งแรงสามารถมีชีวิตอยู่ในร่างกายของผู้หญิงได้นานกว่า 48-72 ชั่วโมง และไข่จะมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 12-24 ชั่วโมงหลังการตกไข่ โดยผู้ที่มีประจำเดือนมาปกติจะเกิดการตกไข่ 14 วันก่อนมีประจำเดือนครั้งต่อไป ซึ่งการปฏิสนธิจะเกิดขึ้นเมื่อสเปิร์มและไข่ผสมกันแทบจะทันทีหลังเกิดการตกไข่
วิธีการคำนวณระยะไข่ตก
ปกติแล้วกระบวนการตกไข่จะเกิดขึ้นประมาณ 14 วันก่อนมีประจำเดือนครั้งต่อไป ซึ่งผู้ที่มีระยะห่างของรอบเดือน 28 วันสามารถคำนวณระยะไข่ตกได้จากการนับวันที่มีประจำเดือนมาวันแรกเป็นวันที่ 1 โดยวันที่มีไข่ตกหรือมีโอกาสตั้งครรภ์สูงที่สุด คือ วันที่ 14 นับจากวันที่มีประจำเดือนมาเป็นวันแรก ส่วนวันที่มีโอกาสตั้งครรภ์สูงสุดของผู้ที่มีรอบเดือนทุก ๆ 32 วัน คือ วันที่ 18 นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน
อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้อาจไม่ค่อยแม่นยำนัก เนื่องจากแต่ละคนมีช่วงรอบเดือนที่แตกต่างกัน และภาวะไข่ตกไม่ได้เกิดหลังประจำเดือนมา 14 วันเสมอไป
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสนธิ
นอกจากการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่มีการตกไข่แล้ว ฮอร์โมนก็เป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิสนธิด้วย โดยฮอร์โมนในร่างกายต้องมีความสมดุลและเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไข่ เพื่อให้กระบวนการตกไข่เป็นไปอย่างปกติ ต้องมีปริมาณสเปิร์มที่แข็งแรงเพียงพอที่จะว่ายไปหาไข่ได้ และต้องไม่มีอุปสรรคขวางกั้นการปฏิสนธิ เช่น ภาวะท่อนำไข่อุดตัน เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สเปิร์มไม่สามารถผสมกับไข่ได้
กระตุ้นการปฏิสนธิด้วยวิธีธรรมชาติ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างต่อไปนี้ อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ภาวะอ้วนหรือผอมเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิสนธิได้ โดยผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 19 อาจมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติถึง 4 เท่า ส่วนผู้หญิงที่อยู่ในภาวะน้ำหนักเกินอาจเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการมีประจำเดือนได้ นอกจากนี้ ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผลิตจากเซลล์ไขมันอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการตกไข่ได้เช่นกัน ดังนั้น ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติด้วยวิธี เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารบำรุงร่างกาย ควรดูแลสุขภาพและบำรุงร่างกายให้พร้อมก่อนการแผนตั้งครรภ์ด้วยการรับประทานที่มีประโยชน์ เช่น เลือกรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยธัญพืชที่ผ่านกระบวนการขัดสีน้อย ผัก และผลไม้หลากสีเป็นประจำทุกวัน เป็นต้น นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและไขมันทรานส์สูง แต่เลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 แทน เช่น ปลาแซลมอน และไข่ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรเลือกบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมวัวทุกวัน
  • รับประทานอาหารเสริม เมื่อวางแผนจะมีบุตร อาจเริ่มรับประทานวิตามินรวมหรือวิตามินเตรียมตั้งครรภ์ที่มีส่วนผสมของกรดโฟลิค โดยในระยะแรกของการตั้งครรภ์นั้น หลอดประสาทของตัวอ่อนจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ซึ่งการรับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของกรดโฟลิคจะช่วยลดความเสี่ยงภาวะพิการแต่กำเนิดได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมใด ๆ เสมอ
  • จัดการความเครียด ภาวะเครียดอาจส่งผลให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) สูง ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ นอกจากนี้ ความเครียดยังมีผลต่อความสัมพันธ์ของคู่รักได้อีกด้วย ดังนั้น เมื่อเกิดความเครียดจึงควรทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น นั่งสมาธิหรือเล่นโยคะ เป็นต้น แต่หากเครียดรุนแรงสะสมเป็นเวลานาน อาจต้องไปปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์
  • จำกัดปริมาณการดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ แม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการดื่มคาเฟอีนจะส่งผลกระทบต่อการปฏิสนธิหรือไม่ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายแนะนำว่าควรจำกัดปริมาณการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนให้น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/วัน ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์นั้น หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบของการดื่มแอลกอฮอล์ต่อการปฏิสนธิก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเช่นกัน แต่การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากก็อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการตกไข่ ทำให้เกิดภาวะขาดประจำเดือน หรือเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติได้ นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลกระทบต่อระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนอีกด้วย ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ควรจำกัดปริมาณหรือเลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ไปก่อน
  • หยุดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่อาจส่งผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแท้งบุตร การท้องนอกมดลูก และการเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2 ปี ส่วนผู้ชายก็ควรหยุดสูบบุหรี่เช่นกัน เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้สเปิร์มไม่แข็งแรงและมีปริมาณน้อยลง ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์และมีบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรง ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรสูบบุหรี่หรือควรเลิกสูบบุหรี่ด้วย 

ระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์

ระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์

การสืบพันธุ์ของมนุษย์เกิดขึ้นแบบปฏิสนธิภายในโดยการร่วมเพศ ในกระบวนการดังกล่าวองคชาตของเพศชายจะสอดใส่ในช่องคลอดของเพศหญิงจนกระทั่งเพศชายหลั่งน้ำอสุจิซึ่งประกอบด้วยอสุจิประมาณ 70 ล้านตัวเข้าไปในช่องคลอดของเพศหญิง อสุจิซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศชายจำนวนมากจะเคลื่อนที่ผ่านช่องคลอดและปากมดลูกเข้าไปในมดลูกหรือท่อนำไข่เพื่อปฏิสนธิกับไข่ หลังการปฏิสนธิและฝังตัวจะเกิดการตั้งครรภ์ของทารกในครรภ์ขึ้นภายในมดลูกของเพศหญิงซึ่งใช้เวลาประมาณ 9 เดือน การตั้งครรภ์จะสิ้นสุดลงเมื่อทารกคลอด การคลอดนั้นต้องอาศัยการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก การเปิดออกของปากมดลูก แล้วทารกจึงจะผ่านออกมาทางช่องคลอดได้ ทารกนั้นจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และต้องอาศัยการดูแลจากผู้ปกครองเป็นเวลาหลายปี หนึ่งในการดูแลดังกล่าวคือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ซึ่งต้องอาศัยต่อมน้ำนมที่อยู่ภายในเต้านมของเพศหญิง
           
ในมนุษย์มีการเจริญและพัฒนาของระบบสืบพันธุ์อย่างมากมาย นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงในเกือบทุกอวัยวะในระบบสืบพันธุ์แล้วนั้น ยังพบการเปลี่ยนแปลงอีกในลักษณะเฉพาะทางเพศขั้นทุติยภูมิ (secondary sexual characteristics)
ระบบสืบพันธุ์เพศชาย
       ระบบสืบพันธุ์เพศชายประกอบด้วยอวัยวะที่อยู่ภายนอกร่างกายและรอบๆ บริเวณเชิงกรานซึ่งทำหน้าที่ในกระบวนการสืบพันธุ์ หน้าที่หลักโดยตรงของระบบสืบพันธุ์เพศชายคือการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศชายหรือสเปอร์มาโทซัว (spermatozoa) เพื่อใช้ผสมพันธุ์กับไข่

       อวัยวะสืบพันธุ์เพศชายแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือการสร้างและเก็บตัวอสุจิ การสร้างตัวอสุจิเกิดขึ้นภายในอัณฑะที่อยู่ภายในถุงอัณฑะซึ่งช่วยควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม อสุจิที่ยังไม่เจริญเต็มที่จะเคลื่อนที่ไปยังเอพิดิไดมิส (epididymis) เพื่อพัฒนาและกักเก็บ อวัยวะในกลุ่มที่สองคือต่อมสร้างของเหลวในการหลั่งน้ำอสุจิซึ่งได้แก่ถุงน้ำอสุจิ (seminal vesicles), ต่อมลูกหมาก (prostate) และหลอดนำอสุจิ (vas deferens) และในกลุ่มสุดท้ายคืออวัยวะที่ใช้ในการร่วมเพศและหลั่งน้ำอสุจิในเพศหญิงได้แก่องคชาต ท่อปัสสาวะ หลอดนำอสุจิ และต่อมคาวเปอร์

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อวัยวะสืบพันธุ์เพศชายภายนอก

        


         ลักษณะเฉพาะทางเพศขั้นทุติยภูมิในเพศชายได้แก่ การมีร่างกายสูงใหญ่ โครงร่างกายมีกล้ามเนื้อมากขึ้น เสียงห้าวทุ้ม มีขนตามใบหน้าและลำตัว ไหล่กว้างขึ้น การเจริญของลูกกระเดือกฮอร์โมนที่สำคัญในเพศชายคือแอนโดรเจนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทสโทสเตอโรน

                    

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

           ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงประกอบด้วยอวัยวะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายในร่างกายและรอบๆ บริเวณเชิงกรานซึ่งทำหน้าที่ในกระบวนการสืบพันธุ์ ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ช่องคลอดทำหน้าที่รองรับอสุจิจากเพศชาย, มดลูกซึ่งช่วยรองรับทารกในครรภ์ และรังไข่ทำหน้าที่ผลิตไข่ เต้านมก็เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในระยะการดูแลทารก
          
ช่องคลอดจะเปิดออกภายนอกที่โยนีซึ่งประกอบด้วยแคม คลิตอริส และท่อปัสสาวะ ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์บริเวณเหล่านี้จะหล่อลื่นด้วยเมือกซึ่งคัดหลังจากต่อมบาร์โธลีน (Bartholin's glands) ช่องคลอดต่อเนื่องกับมดลูกโดยมีปากมดลูกอยู่ระหว่างกลาง ในขณะที่มดลูกต่อเนื่องกับรังไข่ผ่านทางท่อนำไข่ ในทุกๆ ช่วงรอบประมาณ 28 วันรังไข่จะปล่อยไข่ออกมาผ่านท่อนำไข่เข้าไปยังมดลูก เยื่อบุมดลูกซึ่งดาดอยู่ด้านในมดลูกและไข่ที่ไม่ได้รับการผสมกับอสุจิจะไหลออกและถูกกำจัดออกไปทุกรอบเดือน ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า การมีประจำเดือน (menstruation)
         ลักษณะเฉพาะทางเพศขั้นทุติยภูมิในเพศหญิงได้แก่ การมีร่างกายเล็กกว่าเพศชาย ร่างกายมีร้อยละของไขมันสูง สะโพกกว้างขึ้น การเจริญของต่อมน้ำนมและเต้านมขยายขนาด ฮอร์โมนเพศที่สำคัญในเพศหญิงคือเอสโตรเจนและโพรเจสเตอโรน

Physiology Reproductive female